แก้ว
แก้ว เป็นหนึ่งในพรรณไม้หอมที่นิยมปลูกประดับตามบ้านและสวน เมื่อดอกแก้วบาน กลิ่น
หอมอ่อนๆ จะขจรขจายไปทั่ว ช่อสีขาวของดอกแก้วสวยน่ารักไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นๆ แม้จะเป็นดอกไม้พื้นๆ พบได้ทั่วไปแต่แก้วก็เป็นไม้ประดับที่อยู่ในวรรณคดีไทยมาช้านาน
ไม้ แก้ว แก้วพี่เยื้อง หอมสะไบ
หอมกลิ่นหอมชวยไป ทั่วแคว้น
ทุกข์ลืมปลื้มอาไลย ลานกลิ่น
กลกลิ่นนางน้องแหน้น แต่เที่ยวแลหา ฯ
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
นกแก้วจับกิ่ง แก้ว กอดคอน
กลพี่กอดแก้วนอน แนบเนื้อ
นางกวักนกกวักจร จับกวัก ไกวแม่
หลงว่ากรนุชเกื้อ กวักให้เรียมตาม ฯ
นิราศนรินทร์
(ภาพแก้ว ถ่ายภาพโดย เจ้าของบล็อกเอง (Devonshire)
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ที่ไร่ผาจันหอม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี)
แก้ว
Murraya paniculata (Linn.) Jack
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Andaman Satinwood, China Box Tree,
Cosmetic Bark Tree, Orange Jasmine
ชื่ออื่น แก้วทอง แก้วขาว ตะไหลแก้ว แก้วพริก จ๊าพริก แก้วลาย แก้วขี้ไก่ เขี้ยวขี้ควาย
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง 3-8 เมตร ใบ เป็นช่อติดเรียงเวียนสลับ ช่อหนึ่ง ๆ
มีใบย่อย 3-7 ใบ ติดตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ทรงใบรูปไข่แกมรี และรูปข้าวหลามตัดเอียง
ผิวใบเขียวเข้มเป็นมันทั้งสองข้าง ดอก สีขาวกลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม กระจุกละ 2-5 ดอก กลีบรองกลีบดอกมีขนาดเล็กมี 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปรี หรือรูปขอบขนาน บานกลางคืน ขณะบานกลีบจะม้วนออกด้านนอกกลีบหลุดง่าย เกสรผู้มี 10 อัน ยาว 5 อันสั้น 5 อันเรียงสลับเป็นวงกลมล้อมรอบรังไข่ ผล รูปไข่มีเนื้อเยื่อหุ้มยาวไม่เกิน 2 ซม. ผลแก่ออกสีส้มปนแดง ภายในมี 1-2 เมล็ด
การกระจายและนิเวศวิทยา เป็นพรรณไม้ของป่าดิบแล้ง ขึ้นกระจายทั่วทุกภาค จากที่ราบสูงถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 20-400 เมตร ออกดอกและเป็นผลตลอดปี
ประโยชน์ เป็นพรรณไม้ดอกหอม เปลือก ใช้ทำเครื่องสำอาง เนื้อไม้ ลายมันสวยงาม มีน้ำมันในเนื้อไม้ นิยมใช้ทำเครื่องเรือน กรอบรูป กระสวย ซอด้วง ซออู้ และหวี ตำรายาไทย ใบ ปรุงเป็นยาขับระดูที่เรียกว่ายาประสะใบแก้ว เป็นยาขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ และบำรุงโลหิต น้ำมันจากใบ ใช้เป็นยาชา
Kaew
Murraya paniculata (Linn.) Jack
Family RUTACEAE
Common names Andaman satinwood, China box tree,
Cosmetic bark tree, Orange jasmine
Vernacular names Kaew thong, Kaew khao, Talai kaew, Kaew phrik,
Jah phrik, Kaew lai, Kaew khikai, Khiew khikhwai
Small trees, common in the evergreen forests. Flowers strongly scented; widely cultivated as an ornamental.
